Rokossovsky, Konstantin Konstantinovich (1896-1968)

จอมพล คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช โรคอสซอฟสกี (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๑๑)

 จอมพล คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช โรคอสซอฟสกีเป็นนายทหารรัสเซียเชื้อสายโปล ผู้นำกองทัพโซเวียตในแนวรบแม่นํ้าดอน (Don) ในการปกป้องกรุงสตาลินกราด (Stalingrad) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขาทำให้กองทัพโซเวียตสามารถรุกคืบปิดล้อมกองทัพที่ ๖ ของเยอรมนีในทางตอนใต้จนมีชัยชนะในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ โรคอสซอฟสกีบัญชาการแนวรบส่วนกลางในยุทธการที่เมืองคุรสค์ (Battle of Kursk)* เพื่อเปิดโอกาสให้พลเอก นีโคไล วาตูติน (Nikolai Vatutin) ซึ่งบัญชาการรบในแนวรบโวโรเนช (Voronezh Front) บุกตีฝ่าฝ่ายเยอรมนีด้วยรถถังเกือบ ๒,๐๐๐ คัน ในแนวรบคุรสค์ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านโปรโฮรอฟคา (Prokhorovka) จนทำให้กองทัพเยอรมันต้องล่าถอย และนำไปสู่ชัยชนะของกองทัพโซเวียตในแนวรบคุรสค์ ความสามารถในการป้องกันการโหมบุกของเยอรมนีทั้งในยุทธการที่สตาลินกราดและยุทธการที่เมืองคุรสค์ทำให้โรคอสซอฟสกีเป็นที่ชื่นชมและยกย่องทั้งจากโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตและจอมพล เกออร์กี จูคอฟ (Georgi Zhukov)* ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพโซเวียต โรคอสซอฟสกีจึงได้รับคำสั่งให้จัดตั้งกองทัพหน้าที่ ๑ เบโลรัสเซีย (1ˢᵗ Belorussian Front) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๔ เพื่อปลดปล่อยแนวรบด้านตะวันออกและบุกกรุงวอร์ซอ (Warsaw) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ โรคอสซอฟสกีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพโซเวียตประจำโปแลนด์ (ค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๙) และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๔๖ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโปแลนด์

 โรคอสซอฟสกีเกิดในครอบครัวกรรมกรเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ ที่หมู่บ้านเวลีคีลูคี (Velikie Luki) จังหวัดปสคอฟ (Pskov) ซึ่งไม่ไกลจากกรุงวอร์ซอเท่าใดนัก บิดาเป็นกรรมกรรถไฟชาวโปลซึ่งสมรสกับหญิงชาวรัสเซีย เขาจึงพูดได้ ๒ ภาษาแต่ภาษารัสเซียติดสำเนียงโปล หลังเขาเกิดได้ไม่นานนักครอบครัวอพยพไปอยู่ที่กรุงวอร์ซอ ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นจังหวัดหนึ่งในจักรวรรดิรัสเซียบิดาพยายามส่งเสียเขาให้เรียนในระดับสูง แต่ด้วยความยากจนทำให้โรคอสซอฟสกีต้องออกจากโรงเรียนอาชีวะขณะอายุได้ ๑๔ ปี และทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนตัดหิน ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ขณะอายุได้ ๑๘ ปี บิดาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถไฟตกราง และใน ค.ศ. ๑๙๑๐ มารดาก็เสียชีวิตลงอีก โรคอสซอฟสกีเป็นคนใฝ่รู้และพยายามศึกษาด้วยตนเอง เขามักหาเวลาว่างอ่านหนังสือและติดตามข่าวสารบ้านเมือง เขาจึงถูกโน้มน้าวให้สนใจปัญหาการเมืองและเข้าร่วมกับขบวนการกรรมกรที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ โรคอสซอฟสกีเข้าร่วมชุมนุมนัดหยุดงานเพื่อต่อต้านรัฐบาลรัสเซียและถูกตำรวจจับกุม ระหว่างถูกคุมขังที่คุกปาเวียค (Pawiak) เขามีโอกาสรู้จักและสนิทสนมกับสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยแห้งราชอาณาจักรโปแลนด์และลิทัวเนีย (Social Democratic of Kingdom of Poland and Lithuania) ซึ่งมี เฟลิกซ์ ดเซียร์จินสกี (Felix Dzerzhinsky)* เป็นผู้นำเขาได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ทางการเมืองและชึมซับความรู้เรื่องลัทธิมากซ์จนเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นและแนวทางการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาครวมทั้งการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยมาตุภูมิอย่างชัดเจนมากขึ้นในเวลาต่อมา รัฐบาลโซเวียตกล่าวยกย่องว่าโรคอสซอฟสกีเป็นตัวอย่างของชาวโปสรักชาติคนหนึ่งที่ต่อสู้โค่นล้มระบบซาร์เพื่อสร้างสังคมนิยมและภราดรภาพระหว่างประเทศในนามของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต

 โรคอสซอฟสกีพ้นโทษใน ค.ศ. ๑๙๑๓ และกลับมาทำงานเป็นกรรมกรเหมือนเดิมแต่ก็ถูกตำรวจเฝ้าจับตามองอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ และรัสเซียเข้าสู่สงครามกับเยอรมนีโดยเป็นประเทศผู้นำของกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliances)* เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ทั้งสภาดูมา (Duma)* และประชาชนรัสเซียต่างรวมพลังกันสนับสนุนซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ในการทำสงคราม โรคอสซอฟสกีได้อาสาสมัครเป็นทหารในกองทัพ ด้วยรูปร่างที่แข็งแรงได้สัดส่วนและความสูง ๑๘๐ เซนติเมตร ทั้งหน้าตาดี เขาจึงได้รับคัดเลือกเข้าประจำการในกรมทหารม้าที่ ๕ (5ᵗʰ Cavalry Regiment) นับเป็นการเริ่มต้นการเป็นทหารอาชีพที่ยาวนานที่เกี่ยวข้องกับทหารม้า เขาร่วมรบในสมรภูมิอย่างกล้าหาญจนได้รับบาดเจ็บถึง ๒ ครั้ง และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนต์จอร์จ (St. George) ชั้น ๒, ๓ และ ๔ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและกล้าหาญในสงคราม

 ในระยะแรกของสงคราม รัสเซียมีชัยชนะเหนือกองทัพออสเตรียและสามารถยึดแคว้นกาลิเซีย (Galicia)* ไว้ได้ ทั้งตีรุกคืบเข้าไปในไซลีเซีย (Silesia) ของเยอรมนีแต่ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๕ รัสเซียกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องเพราะเยอรมนีทุ่มกำลังรบโจมตีแนวรบด้านรัสเซียอย่างหนัก ความพ่ายแพ้ในการรบและความยืดเยื้อของสงครามมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นอย่างมาก กระแสต่อต้านสงครามเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและนำไปสู่การเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งไม่ทรงสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไว้ได้จำต้องยอมประกาศสละราชบัลลังก์ และแกรนด์ดุ๊ก ไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Michael Alexandrovich) พระอนุชาก็ทรงปฏิเสธที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ ราชวงศ์ โรมานอฟ (Romanov)* จึงถึงกาลอวสานเช่นเดียวกันกับอาชีพทหารของโรคอสซอฟสกี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ โรคอสซอฟสกีเข้าร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนสภาโซเวียต ต่อมาเมื่อวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ตัดสินใจยึดอำนาจทางการเมืองซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ (October Revolution of 1917)* โรคอสซอฟสกีเข้าร่วมกับกองกำลังเรดการ์ด (Red Guard) และสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยอดอล์ฟ ยุชเควิช (Adolf Yushkevich) ผู้บัญชาการหน่วยทหารม้าเรดการ์ด

 ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* โรคอสซอฟสกีเป็นผู้บัญชาการกองร้อยทหารม้าในแถบไซบีเรียตอนกลาง และมีบทบาทสำคัญในการสกัดกั้นกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวที่มีพลเรือเอกอะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* เป็นผู้นำไม่ให้รุกคืบเช้าสู่บริเวณภูมิภาคยูรัลได้ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เขาถูกย้ายไปบัญชาการกรมทหารม้าอิสระที่ ๓๕ (35ᵗʰ Independent Calvary Regiment) ในแถบมองโกเลียนอก (Outer Mongolia) เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของบารอนอุนเกียร์น-สเติร์นแบร์ก (Baron Ungern-Sternberg)* เขาได้รับบาดเจ็บ ๒ ครั้ง และหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๒๑ โรคอสซอฟสกี ซึ่งได้รับอิสริยาภรณ์ธงแดง (Order of the Red Banner) ชั้นสูงสุดยังคงประจำการในแถบตะวันออกไกล ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาไปศึกษาอบรมระดับสูงที่โรงเรียนทหารม้าระดับสูงแห่งเลนินกราด (Leningrad Higher Calvary School) และมีโอกาสพบและเป็นสหายสนิทกับทหารหนุ่มรุ่นใหม่ในวัยเดียวกันหลายคน เช่น เกออร์กี จูคอฟ อะเล็กซานเดอร์ โคเนฟ (Alexander Konev) สหายเหล่านี้ในเวลาต่อมามีส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากการถูกกวาดล้างในทศวรรษ ๑๙๓๐

 หลังสำเร็จการศึกษาโรคอสซอฟสกีกลับไปประจำการที่ตะวันออกไกลตามเดิมและทำหน้าที่ฝึกสอนทหารราบของกองทัพประชาชนมองโกเลีย (Mongolian People’s Army) ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาพบรักกับยูเลีย เปตรอฟนา (Yulia Petrovna) ผู้สื่อข่าวสงครามซึ่งเป็นบุตรสาวของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เมืองคาฮ์ตา (Kyakhta) เมืองเล็ก ๆ ติดชายแดนโซเวียต-มองโกเลีย แม้ครอบครัวของยูเลียพยายามขัดขวางความรักของคนทั้งสองแตกล้มเหลวเขาสมรสกับยูเลียใน ค.ศ. ๑๙๒๖ และมีชีวิตคู่ที่หอมหวานและมั่นคง ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน ชื่ออาเดีย (Adia) ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ โรคอสซอฟสกีเดินทางไปกรุงมอสโกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อเรียนหลักสูตรเสนาธิการระดับสูงที่สถาบันทหารฟรุนเซ (Frunze Military Academy) จากนั้น เขากลับไปประจำการที่กองทัพโซเวียตตะวันออกไกล (Soviet Far East) และควบคุมเขตพื้นที่ภูมิภาคทรานส์ไบคาล (Transbaikal Region) และเบโลรัสเซีย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๕ โรคอสซอฟสกีก้าวหน้าในงานอาชีพอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทหารม้าที่ ๕ (5ᵗʰ Calvary Corps) ประจำการในเขตทหารแห่งเลนินกราด

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๔ เซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergey Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราดซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของสตาลินถูกลอบสังหารอย่างมีเงื่อนงำ สตาลินใช้ข้ออ้างการเสียชีวิตของคีรอฟเป็นเงื่อนไขจับกุมฝ่ายตรงข้ามโดยกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการคบคิดลอบสังหารคีรอฟ ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารถูกจับกุมและสังหารซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘ โรคอสซอฟสกีถูกอดีตผู้บังคับบัญชาซัดทอดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนและเป็นจารชนให้ข้อมูลลับทางทหารแก่โปแลนด์และญี่ปุ่น เขาถูกจับใน ค.ศ. ๑๙๓๗ และถูกทรมานให้ยอมรับสารภาพผิด แต่เขาปฏิเสธทั้งไม่ยอมกล่าวโทษคนอื่น เขาจึงถูกตัดสินให้จำคุกเกือบ ๓ ปี อย่างไรก็ตาม ทหารระดับสูงที่สตาลินไร้วางใจและเป็นสหายของโรคอสซอฟสกีพยายามช่วยเหลือเขาศาลจึงยกฟ้องและโรคอสซอฟสกีพันโทษเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เขากลับไปแนวรบด้านตะวันออกเพื่อเตรียมปลดปล่อยเบสซาราเบีย (Bessarabia)* และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี

 เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เยอรมนีได้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งรุกคืบหน้าไปยึดกรุงมอสโกโดยใช้เส้นทางที่เคยใช้ในการบุกรัสเซีย ค.ศ. ๑๘๑๒ ผ่านสโมเลนสค์ (Smolensk) โรคอสซอฟสกีได้รับแต่งตั้งจากจูคอฟให้บัญชาการกองทัพที่ ๑๖ ในการปกป้องกรุงมอสโกและประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการรุกของกองทัพเยอรมัน ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เขาบัญชาการรบในแนวรบแม่นํ้าดอนและเคลื่อนกำลังมาหนุนช่วยการป้องกันสตาลินกราดในแนวรบทางตอนเหนือในยุทธการที่สตาลินกราดจนเยอรมนียอมล่าถอย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๓ ในยุทธการที่เมืองคุรสค์ โรคอสซอฟสกีบัญชาการรบในแนวรบส่วนกลางและประสานกำลังกับกองกำลังรถลังของพลเอก นีโคไล วาตูติน บุกโจมตีเยอรมนีในแนวรบคุรสค์ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านโปรโฮคอฟคาในกลางเดือนกรกฎาคม จนเยอรมนีต้องล่าถอย ในต้นเดือนสิงหาคมกองทัพเยอรมันก็พ่ายแพ้และกองทัพโซเวียตสามารถปลดปล่อยพื้นที่ยึดครองในแนวรบคุรสค์ได้ทั้งหมดชัยชนะดังกล่าวเป็นสัญญาณบอกถึงความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันออกและเป็นชัยชนะในอนาคตของฝ่ายพันธมิตร

 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๔ โรคอสซอฟสกี ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งกองทัพหน้าที่ ๑ เบโลรัสเซีย เพื่อปลดปล่อยแนวรบด้านตะวันออกและบุกเข้าไปในโปแลนด์ เขานำกองทัพโซเวียตรุกคืบหน้าอย่างรวดเร็วไปตามแนวหน้าสำคัญ ๆ ทุกแห่งมุ่งตรงไปโปแลนด์และปรัสเซียตะวันออกจนบุกไปถึงเมืองลูบดิน (Lublin) และเมืองเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk) และยึดครองได้ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพใต้การนำของโรคอสซอฟสกีก็ข้ามแม่นํ้าวิสตูลา (Vistula) และอยู่ห่างจากกรุงวอร์ซอไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การรุกของโรคอสซอฟสกีได้หยุดลงอย่างกะทันหันเนื่องจากทหารของเขาอ่อนล้าและเหน็ดเหนื่อยมากและเส้นทางการส่งกองกำลังบำรุงก็ขยายยาวออกไปมากเกินไปในช่วงเวลาเดียวกัน สถานีวิทยุกระจายเสียงมอสโกก็ออกอากาศแจ้งข่าวการรุกคืบหน้าของกองทัพโซเวียตและเรียกร้องให้ชาวเมืองวอร์ซอลุกฮือขึ้นต่อต้านเยอรมนีเพื่อหนุนช่วยการปลดปล่อยที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อหน่วยใต้ดินต่อต้านนาซีชาวโปลและชาวเมืองวอร์ซอลุกฮือขึ้นซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกกันต่อมาว่าการลุกฮือที่วอร์ซอ (Warsaw Uprising)* รวม ๖๓ วัน กองทัพโซเวียตไม่ยอมรุกคืบหน้าเข้ามาช่วยทั้งไม่ยอมให้ฝ่ายพันธมิตรใช้สนามบินเพื่อเติมเชื้อเพลิงและบินทิ้งระเบิดฝ่ายนาซี เยอรมนีจึงตอบโต้ด้วยการระเบิดและเผาทำลายกรุงวอร์ซอเป็นเถ้าถ่านและเข่นฆ่าชาวโปลอย่างเหี้ยมโหดกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ทั้งกวาดต้อนผู้รอดชีวิตไปค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ตลอดจนกวาดล้างหน่วยใต้ดินจนสิ้นซาก

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ โรคอสซอฟสกีได้รับคำสั่งให้ไปบัญชาการกองทัพหน้าที่ ๒ เบโลรัสเซียและนำทัพเช้ายึดครองกรุงวอร์ซอ จากนั้นเขาเคลื่อนกำลังไปทางตอนเหนือของโปแลนด์และยึดเมืองดานซิก (Danzig)* หรือกดานสก์ (Gdank)* ได้ในเดือนเมษายน ในเดือนพฤษภาคมกองทัพของเขาโอบล้อมกองทัพเยอรมันในปรัสเซียตะวันออกและสนธิกำลังกับกองทัพอังกฤษที่เมืองวิทเทนแบร์ก (Wittenberg) เพื่อปลดปล่อยเยอรมนี ในช่วงเวลาเดียวกันจอมพล วิลเฮล์ม ไคเทิล (Wilhelm Keitel)* เสนาธิการกองบัญชาการสูงสุดของกองทัพเยอรมันในรัฐบาลของจอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* ก็ยอมแพ้สงครามต่อจอมพล จูคอฟที่กรุงเบอร์ลิน ต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ โรคอสซอฟสกีซึ่งดำรงตำแหน่งจอมพลนำขบวนแถวของกองทัพโซเวียตเดินขบวนเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะที่จัตุรัสแดงทำมกลางเสียงโห่ร้องยินดีปรีดาของพลเมืองโซเวียต โรคอสซอฟสกีได้รับการยกย่องเป็น “วีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต” (Hero of the Soviet Union) รวม ๒ ครั้ง และได้รับอิสริยาภรณ์เลนิน (Order of Lenin) และอิสริยาภรณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคม (Order of October Revolution) รวม ๗ เหรียญ อิสริยาภรณ์ธงแดง ๖ เหรียญ อิสริยาภรณ์ซูโวรอฟชั้นที่ ๑ (Order of Suvorov 1ˢᵗ Class) อิสริยาภรณ์คูตูซอฟชั้นที่ ๑ (Order of Kutuzov 1ˢᵗ Class) อิสริยาภรณ์แห่งชัยชนะ (Order of Victory) และอิสริยาภรณ์ดาวแดง (Order of Red star) ๖ เหรียญ รวมทั้งอิสริยาภรณ์จากประเทศอื่น ๆ

 หลังสงครามโลก รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ที่มีบอเลสลาฟ เบียรูต (Boleslaw Bierut) สานุศิษย์ที่จงรักภักดีของสตาลินเป็นประธานาธิบดีได้ขอให้สหภาพโซเวียตช่วยปรับปรุงกองทัพ ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ สหภาพโซเวียตจึงส่งโรคอสซอฟสกีซึ่งมีเชื้อสายโปลไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโปแลนด์ (ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๔๖) และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของโปแลนด์ โรคอสซอฟสกี จึงดำรงตำแหน่งเป็นจอมพลแห่งโปแลนด์ และยังได้รับการสนับสนุนให้เป็นสมาชิกโปลิตบูโรด้วยอย่างไรก็ตามเมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ขึ้นสู่อำนาจสืบต่อจากสตาลินใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เขาดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) วลาดิสลาฟ โกมุลกา (Wladyslav Gomulka)* คอมมิวนิสต์ชาตินิยมชาวโปลที่ต่อต้านนโยบายการปกครองของสตาลินได้รับการสนับสนุนจากครุชชอฟให้เป็นผู้นำโกมุลกาได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมและโรคอสซอฟสกีถูกส่งกลับมอสโก ครุชชอฟซึ่งเห็นว่าโรคอสซอฟสกีมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจอมพล จูคอฟที่เขาต้องการกำจัดจึงโยกย้ายโรคอสซอฟสกีไปประจำเขตทหารในทรานส์คอเคซัส (Transcaucasus) เพื่อให้ห่างไกลจากกรุงมอสโกต่อมา เขาก็ถูกย้ายไปประจำการที่กรุงทบิลิซี (Tbilisi) สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย (Georgian Soviet Socialist Republic)

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๕๘ จอมพล โรดิออน ยาคอฟเลวิช มาลีนอฟสกี (Rodion Yakovlevich Malinovsky) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ซึ่งสืบทอดอำนาจจากจอมพล จูคอฟได้แต่งตั้งโรคอสซอฟสกีให้เป็นผู้ตรวจการกระทรวงกลาโหม (Chief Inspector of the Ministry of Defense) เพื่อให้เขาช่วยปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โรคอสซอฟสกียังดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในกองทัพจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๒

 ในช่วง ๖ ปีสุดท้ายของชีวิต จอมพล คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช โรคอสซอฟสกีมีสุขภาพอ่อนแอ เขาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๘ รวมอายุได้ ๗๒ ปี ในเวลาต่อมามีการจัดสร้างอิสริยาภรณ์โรคอสซอฟสกี (Order of Rokossovsky) ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่เขาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจอมพลของ ๒ ประเทศ (Marshal of two Countries) คือ สหภาพโซเวียตและโปแลนด์.



คำตั้ง
Rokossovsky, Konstantin Konstantinovich
คำเทียบ
จอมพล คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช โรคอสซอฟสกี
คำสำคัญ
- กลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- กองกำลังเรดการ์ด
- กองทัพโซเวียตตะวันออกไกล
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- โกมุลกา, วลาดิสลาฟ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ค่ายกักกัน
- โคเนฟ, อะเล็กซานเดอร์
- ไคเทิล, วิลเฮล์ม
- จูคอฟ, เกออร์กี
- ไซลีเซีย
- ดเซียร์จินสกี, เฟลิกซ์
- เดอนิทซ์, จอมพลเรือ คาร์ล
- แนวรบโวโรเนช
- บอลเชวิค
- เบสซาราเบีย
- เบียรูต, บอเลสลาฟ
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- เปตรอฟนา, ยูเลีย
- ฝ่ายรัสเซียขาว
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- มาลีนอฟสกี, จอมพล โรดิออน ยาคอฟเลวิช
- ยุทธการที่เมืองคุรสค์
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- รัฐบริวารโซเวียต
- โรคอสซอฟสกี, จอมพล คอนสตันติน คอนสตันติโนวิช
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- ลัทธิมากซ์
- ลิทัวเนีย
- วาตูติน, พลเอก นีโคไล
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1896-1968
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๕๑๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-